ดังที่ได้กล่าวถึงในบทความก่อนหน้าเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาระหว่างการทำงาน โดยที่กฎหมายได้บัญญัติข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเอาไว้แตกต่างกันในการจัดการลิขสิทธิ์ระหว่าง “นายจ้างกับลูกจ้าง” และ “ผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง” ในบทความนี้จึงจะขอพูดถึงในกรณีที่เราประสงค์จะตกลงกันเอาไว้เป็นอย่างอื่นนั่นเองครับ
ย้อนทบทวนกันนิดหนึ่ง ข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้กำหนดเอาไว้ว่า งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นตกเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำbqงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ในกรณีที่นายจ้างประสงค์ที่จะเป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ด้วย นายจ้างอาจกำหนดไว้ในสัญญาจ้างไว้เป็นข้อความประมาณนี้
สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ลูกจ้างตกลงว่านายจ้างมีสิทธิ หรือจะมีสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ (ไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ) ที่ลูกจ้างได้ประพันธ์ สร้างขึ้น หรือได้จัดทำขึ้น ในระหว่างที่ลูกจ้างถูกจ้างภายใต้สัญญาจ้างงาน และมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของนายจ้าง หรือมีความเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาของนายจ้าง หรือได้พัฒนาขึ้นในเวลางาน หรือได้มีการใช้อุปกรณ์ สิ่งของ สถานที่ หรือข้อมูลความลับของนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างตกลงที่จะแจ้งให้นายจ้างทราบถึงทรัพย์สินทางปัญญาใด ๆ ที่ได้เกิดขึ้นต่อนายจ้างในทันทีที่ได้ทราบถึงทรัพย์สินทางปัญญานั้น และลูกจ้างตกลงที่จะดำเนินการใด ๆ เพื่อให้นายจ้างมีสิทธิและสามารถได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นในทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น
ตัวอย่างข้างต้นนั้นค่อนข้างมีความเป็นกลาง เนื่องจากยังคงแบ่งขอบเขตไว้ชัดว่าทรัพย์สินทางปัญญาใดที่จะตกเป็นของนายจ้าง ดังนั้นในกรณีที่ลูกจ้างสร้างสรรค์งานขึ้นมาโดยมิได้อาศัยทรัพยากรใด ๆ ของนายจ้าง ลิขสิทธิ์ก็ยังคงตกเป็นของลูกจ้างอยู่ อย่างไรก็ตามนายจ้างอาจปรับแก้ข้อความดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือหากว่าเห็นว่าการกำหนดข้อความดังกล่าวไว้จะสร้างความคลุมเครือและกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของนายจ้าง อาจพิจารณาตัดข้อความที่ขีดเส้นใต้ออกทั้งหมดก็สามารถทำได้
แต่ตัวอย่างข้างต้นนั้นก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบกับขวัญและกำลังใจของลูกจ้างในการสร้างสรรค์ผลงานได้ ดังนั้นสำหรับนายจ้างอาจจะพิจารณาปรับเป็นการขอซื้อลิขสิทธิ์เป็นรายกรณี ก็สามารถทำได้ เพื่อให้ลูกจ้างเกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้นายจ้างเลือกสรรมากขึ้น ตามตัวอย่างด้านล่าง
ในกรณีที่ลูกจ้างได้จัดทำงานสร้างสรรค์อันอาจมีลิขสิทธิ์หรือก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นใดในระหว่างที่ลูกจ้างถูกจ้างภายใต้สัญญาจ้างงาน ให้นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ เว้นแต่ในกรณีที่นายจ้างประสงค์ที่จะได้ลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์นั้น ให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในนโยบายการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น และลูกจ้างตกลงที่จะโอนสิทธิในทรัพย์สินปัญญาทั้งหลายนั้นให้แก่นายจ้างเมื่อนายจ้างได้แสดงความประสงค์เช่นว่านั้น
การจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ในแต่ละรูปแบบนั้นต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นนายจ้างควรพิจารณาวัฒนธรรมองค์กรที่ปรารถนา รวมถึงวิสัยทัศน์และคุณค่าที่องค์กรยึดถือ เนื่องจากจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างนั้นเกิดขึ้นจากสัญญาจ้างงานเป็นอันดับแรกนั่นเองครับ
ณัฐพล สุรรัตน์รังษี
มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ [email protected] นะครับ
*ข้อเขียนข้างต้นเป็นเพียงการให้ข้อมูลโดยทั่วไปและมิได้เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย
**บทความนี้อนุญาตให้เผยแพร่ได้ภายใต้สัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน (CC BY-NC-SA)