ในการทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสรรค์อันอาจมีลิขสิทธิ์ได้ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ สิ่งสำคัญที่ต้องมีความชัดเจนเสมอคือการการจัดการ “ลิขสิทธิ์” ในบรรดางานทั้งหลายที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาในระหว่างการทำงาน เพื่อเลี่ยงข้อพิพาทที่อาจมีขึ้นในภายหลังระหว่างนายจ้างลูกจ้าง โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ได้กำหนดข้อสันนิษฐานเบื้องต้นไว้ในกรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นพิเศษดังนี้
ในกรณีการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง (พนักงานประจำนั่นเอง) มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้กำหนดเอาไว้ดังนี้
“งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น”
ที่กฎหมายกำหนดข้อสันนิษฐานไว้ว่าให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของพนักงาน แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นไปเผยแพร่ ก็เนื่องจากพฤติการณ์โดยทั่วไปของการจ้างแรงงานที่นายจ้างมักจะมีอำนาจบังคับบัญชา รวมถึงเป็นผู้กำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติงานให้สำเร็จ ทำให้ในความเป็นจริงแล้วลูกจ้างมีโอกาสน้อยมากที่จะสร้างงานสร้างสรรค์ขึ้นในระหว่างการจ้างงาน เนื่องจากโดยหลักแล้วเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานตามคำสั่งเท่านั้น กฎหมายจึงสันนิษฐานให้งานอันมีลิขสิทธิ์ตกเป็นของลูกจ้างไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วนายจ้างก็จะกำหนดไว้ในสัญญาจ้างเอาไว้ว่า หากเป็นงานสร้างสรรค์ที่ได้จัดทำขึ้นในเวลางาน หรือได้ใช้ทรัพยากร องค์ความรู้ หรือข้อมูลใด ๆ ขององค์กร ให้ลิขสิทธิ์ในงานทั้งหลายนั้นตกเป็นของนายจ้าง เนื่องจากบางงานโดยสภาพนั้นลูกจ้างสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง เช่น กราฟฟิกดีไซน์เนอร์หรือโปรแกรมเมอร์ต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นต่อไปได้
ในกรณีการสร้างสรรค์ผลงานในฐานะผู้รับจ้าง มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้กำหนดเอาไว้ว่า
“งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น”
ที่กฎหมายกำหนดข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเอาไว้ว่า ถ้าเป็นกรณีของการรับจ้างแล้ว ให้ลิขสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างนั้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติการณ์ทั่วไปของการรับจ้างที่นายจ้างไม่ได้ต้องการอำนาจบังคับบัญชา แต่ต้องการผลสำเร็จของงานหรือผลงาน จึงได้มาจ้างผู้รับจ้าง
อย่างไรก็ดี กฎหมายก็ได้เปิดช่องให้ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นได้ เช่นบริษัทอาจจะอยากจ้างผู้ให้บริการ SaaS ให้พัฒนาฟีเจอร์เฉพาะให้แก่บริษัท ซึ่งทางผู้ให้บริการก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีกับบริการของตัวเองจึงตกลงรับพัฒนาให้ แต่บรรดา Source Code ทั้งหมดนั้นอยากให้คงไว้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ ในกรณีนี้ก็สามารถตกลงกันในรายละเอียดได้ ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ทุกคนลองกลับไปสำรวจดูกันนะครับว่าตามสัญญาปัจจุบันมีการกำหนดสิทธิเอาไว้เป็นอย่างไร ชัดเจนพอหรือไม่ ตรงกับความเข้าใจของเราหรือเปล่า ซึ่งถ้าได้ตกลงกันไว้ชัดเจนตั้งแต่วันนี้จะเป็นการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นภายหลังได้ครับ
ณัฐพล สุรรัตน์รังษี
มีคำถาม? ดรอปอีเมลมาได้ที่ [email protected] นะครับ
*ข้อเขียนข้างต้นเป็นเพียงการให้ข้อมูลโดยทั่วไปและมิได้เป็นการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย
**บทความนี้อนุญาตให้เผยแพร่ได้ภายใต้สัญญาครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน (CC BY-NC-SA)