- ช่วยกรุณาแนะนำตัวคร่าวๆให้พวกเรารู้จักด้วยครับ (ชื่อ ครอบครัว การศึกษา การทำงาน)
สวัสดีครับ กานต์ อุ่ยวิรัช (กานต์) เรียนจบปริญญาเอกสาขา Computer Science ทำวิจัยแนว Computer Vision & Machine Learning จาก Asian Institute of Technology (AIT) มาครับ เรียนมารวดเดียวตั้งแต่ปริญญาตรียันเอก ตอนนี้ทำงานในตำแหน่ง Research & Development Engineer ที่บริษัท Pronto Tools ทำตั้งแต่พัฒนาซอฟต์แวร์ ทดสอบผลิตภัณฑ์ ช่วยดูแลส่วน infrastructure จัดการข้อมูล จนไปถึงวิจัยสิ่งใหม่ๆ มาใช้ในทีม
มีเว็บไซต์ส่วนตัวเอาไว้เขียนเล่น แล้วก็มาเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ที่บล็อกของสมาคมปรแกรมเมอร์ครับ
- ทำไมถึงมีความชอบทางด้านโปรแกรมมิ่ง อะไรเป็นจุดเริ่มต้นหรือแรงบันดาลใจ
จุดเริ่มต้นจริงๆ น่าจะเป็นตอนทำโปรเจคในวิชาหนึ่งตอนปี 3 (ปริญญาตรี) ตอนนั้นทำเว็บจองตั๋วหนัง ได้ลองทำขึ้นมาเอง แล้วก็มีเพื่อนคอยช่วยแนะนำ ว่าตรงจุดนี้ทำอย่างไร ตรงนั้นควรทำแบบนี้ดีกว่า อะไรแบบนี้ รู้สึกว่าสนุกมากครับ แล้วก็เริ่มชอบเขียนเว็บมาตั้งแต่ตอนนั้น ยิ่งทำโปรเจคจบตอนปี 4 ก็ชอบเขียนโปรแกรมมากขึ้น โค้ดทั้งหมดเขียนขึ้นมาเองจากการอ่านเปเปอร์ จากนั้นมาเริ่มรู้สึกได้ว่าถ้าเราเขียนโปรแกรมเป็น จริงๆ แล้วเราสามารถจะเอาไปทำอะไรได้อีกเยอะมาก แทบไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย
- คุณมีหลักการในการพัฒนาตนเองอย่างไรถึงได้ประสบความสำเร็จในสายงานนี้
ผมใช้หลักประมาณว่า “หาสิ่งใหม่ ลงมือทำซ้ำ เปลี่ยนแนวคิด และแบ่งปัน” เป็นตัวช่วยพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นในแต่ละวัน สายงานเทคโนโลยีเป็นสายงานที่ไปเร็วมาก ไม่เคยหยุดนิ่งเลย การที่เราสามารถถีบตัวเองให้ stay on top ได้ การพัฒนาตัวเองจะไปไวมากครับ
อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่อง Fundamentals ครับ เทคโนโลยีเกือบทุกอย่างถูกพัฒนาต่อยอดจากจุดนี้ ถ้าเราจับแนวคิดได้ เชื่อมโยงองค์ความรู้ของเราได้ ตรงนี้จะสามารถช่วยได้เยอะเลยครับ
- ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่าน เล่นเทคโนโลยี หรือ library อะไรอยู่ ช่วยแนะนำคร่าวๆให้ชาวโปรแกรมเมอร์ได้มั้ยครับ
หลักๆ ของผมจะเป็น Django ครับ เป็นเว็บเฟรมเวิร์คที่พัฒนาโดยใช้ภาษา Python เริ่มต้นอาจจะติดขัดเล็กน้อย แต่ถ้าเขียนเป็นเมื่อไหร่นี่อยากทำเว็บแบบไหนก็ไม่มีปัญหาครับ ตัวต่อไปคือ Airflow ครับ เป็น Workflow Management ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เขียนด้วย Python เช่นกัน เนื่องด้วยผมกำลังทำพวก Data Engineering ที่บริษัท Airflow นี่ผมยกให้เป็นพระเอกของงานเลย ส่วนเทคโนโลยีที่เล็งตัวต่อไปคือ Apache Spark ครับ ว่าจะเอามาต่อยอดเรื่องของการทำ Data Analytics
- ช่วยแชร์ประสบการณ์ทำงานโปรเจคต่างๆหน่อยครับ โปรเจคที่ยากที่สุดที่เคยทำมาคืออะไร และยากที่จุดไหน
ณ เวลานี้ โปรเจคที่ยากที่สุด จริงๆ อยากจะเรียกว่าเป็นโปรเจคที่ท้าทายที่สุดนะครับ นั่นคือการวาง Data Infrastructure (ที่ Scable) และการ Open Data ในบริษัท เพราะ? เป็นโปรเจคที่เริ่มคิดเองตั้งแต่ต้น ทำเองตั้งแต่ต้น เจ็บเองตั้งแต่ต้น ไม่มีอะไรท้าทายไปมากกว่านี้แล้ว 🙂
- โปรเจคที่ภูมิใจที่สุดที่เคยทำมาคืออะไร และเพราะอะไรถึงภูมิใจที่สุด
ภูมิใจทุกโปรเจคนะครับ มีส่วนร่วมในทุกๆ โปรเจค ขอตอบเผื่ออนาคตด้วยละกันว่าโปรเจคในข้อ 5 (ข้อที่แล้ว) จะกลายเป็นโปรเจคที่จะภูมิในที่สุด เพราะได้คิดเอง เริ่มต้นเอง ถ้าทำได้ในถึงระดับหนึ่งเมื่อไหร่ มันจะมี impact ที่สูงมากต่อบริษัท
- คุณมีโปรแกรมเมอร์ที่เป็นไอดอลในใจมั้ยครับ ถ้ามีคือใคร และเพราอะไร
มีครับ พี่ Mark Zuck แห่ง Facebook ครับผม พี่ Mark เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่มาก เป็นคนที่มุ่งมั่น เป็นคนที่ทำอะไรแล้วทำได้จริง สุดยอดจริงๆ
- มาถึงเรื่องการทำงานในองค์กรกันบ้าง วัฒนธรรมองค์กรในฝันของคุณเป็นอย่างไร
ฝันของผมเป็นจริงไปแล้วครับ วัฒนธรรมในทีม ในบริษัท เป็นแบบที่ผมฝันถึง เรามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เดียวกัน เราทำงานกันเป็นทีม เราอยู่กันแบบสนิทกัน มี Work-Life Balance บรรยากาศการทำงานดี พูดง่ายๆ สั้นๆ ว่าที่ Pronto นี่คือ “บ้าน” ผมอีกหลังครับ
- ช่วยให้คำแนะนำสำหรับ novice ที่ไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อนและสนใจจะเข้ามาในวงนี้หน่อยครับ ว่าจะต้องวางตัวอย่างไร คุณสมบัติอะไรที่ควรมี ถึงจะทำให้ประสบความสำเร็จในวงการนี้ได้
ถ้าไม่เคยเขียนโปรแกรมมาก่อน แนะนำให้เริ่มต้นด้วย Python ครับ เป็นภาษาที่เหมาะมากสำหรับมือใหม่ แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปเรื่อยๆ ครับ คอร์สเรียนออนไลน์มีเยอะมาก สามารถเริ่มศึกษาด้วยตัวเองได้เลย
เรื่องการวางตัวที่อยากแนะนำอาจจะเป็นเรื่องการตั้งคำถามครับ ผมคิดว่าน่าจะเหมือนกันทุกสายอาชีพ คือไม่ควรตั้งคำถามออกแนวจะเอาไปตอบการบ้าน หรือว่าตอบข้อสอบครับผม จริงๆ มันก็ยากเหมือนกันนะ ถ้าจำเป็นต้องตั้งคำถามประมาณนี้จริงๆ อยากให้ไปลองหาจาก Google หรือตาม Stack Overflow ดูก่อนครับ ฝึกอ่านภาษาอังกฤษเยอะๆ
เรื่องคุณสมบัตินี่ผมมองว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะเก่งหรือไม่เก่ง ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในวงการนี้ได้ทุกคนครับ มีความตั้งใจ ขยันหาความรู้ เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ
- และอีกกลุ่มนึงครับสำหรับกลุ่มโปรแกรมเมอร์ที่พอมีพื้นฐานแล้วอยากจะ raise the bar ของตัวเองไปอีกควรจะต้องทำตัวอย่างไร
ลองทำจริงเลยครับ พัฒนาสิ่งที่แก้ปัญหาให้ตัวเราเองได้ (เริ่มมองปัญหาที่ตัวเองเจอก่อน) ไม่ต้องสนใจเลยครับว่าจะมีใครทำมาก่อนหรือไม่ มันคือการ raise the bar ของตัวเองครับ แล้วก็อะไรที่ทำแล้วเราแบ่งปันให้คนอื่นก็จะเป็นการช่วยหล่อหลอมความคิดของเราไปด้วย เวลาที่ผมอยากจะเรียนรู้อะไรผมจะทำแล้วเก็บไว้ใน GitHub ของผมครับ เพราะผมเชื่อว่าผมไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ชอบในสิ่งๆ นั้น
- สำหรับเรื่องการพัฒนาตนเอง พอจะแนะนำหนังสือทางด้านโปรแกรมมิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ และควรต้องอ่านให้แก่ชาวโปรแกรมเมอร์ได้มั้ยครับ
หนังสือที่ควรซื้อมาอ่านที่ผมแนะนำคือ Clean Code ครับ แล้วก็ Agile Software Development, Principles, Patterns, and Practices ซึ่งเล่มแรกจะออกแนวการเขียนโค้ดให้ดี ดูแลรักษาง่าย อะไรประมาณนั้น ส่วนเล่มที่ 2 จะออกแนวการปฏิบัติในการพัฒนาซอฟต์แวร์ครับ
แล้วก็นอกนั้นผมจะตามอ่านจากบทความของคนดังๆ ต่างๆ แล้วก็ตาม YouTube ชอบใครคนไหนก็ลองไปตามดูครับ ยกตัวอย่างเช่น Martin Fowler หรือไม่ก็ David Heinemeier Hansson ครับ
ส่วนเว็บที่ชาวโปรแกรมเมอร์ควรเปิดดู เปิดอ่านทุกวันคือ Hacker News ครับ แนะนำ!
- คำถามนี้ขำๆ นะครับ หากไม่เขียนโปรแกรมจะไปประกอบอาชีพอะไร
อาจจะไปเป็นวิทยากรสอนอะไรสักอย่างมั้งครับ ไม่ก็ไปช่วยพ่อทำโรงน้ำแข็ง 😛
- อยากให้วงการโปรแกรมเมอร์ไทยเป็นอย่างไรในตอนนี้และในอนาคต
อยากให้เป็นสังคมของการช่วยเหลือแบ่งปันกันครับ อย่างที่ USA จะเห็นได้ว่ามีสังคมแบบนี้เยอะมาก เขาสนับสนุนผู้เริ่มต้นใหม่ค่อนข้างดี
- และคำถามสุดท้ายครับ อยากจะฝากอะไรส่งท้ายแก่ผู้อ่านครับ
ขอบคุณสำหรับคนที่อ่านมาถึงตรงนี้นะครับ อยากเป็นกำลังใจให้ แล้วก็อยากเชิญมาร่วมสร้างสังคมโปรแกรมเมอร์ในเมืองไทยให้น่าอยู่มากขึ้นและมากขึ้นไปอีก 🙂
สุดท้ายจริงๆ ขอฝากบทความ Pronto Tools พวกเราทำอะไร? ไว้ด้วยนะครับ